โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับสุนัขเเละเเมวที่เป็นโรคหัวใจ

Last updated: 12 ก.ค. 2567  |  2054 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับสุนัขเเละเเมวที่เป็นโรคหัวใจ

ในสัตว์ที่เป็นโรคหัวใจระยะท้าย ๆ เกือบทุกชนิดโดยเฉพาะสุนัขที่หัวใจโต (dilated cardiomyopathy; DCM) มักจะเจอภาวะผอมเเห้งที่เป็นผลมาจากโรคหัวใจ (cardiac cachexia) ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียของมวลกล้ามเนื้อ เนื่องจากจะมีการหลั่งสารสื่ออักเสบหลากหลายชนิด ซึ่งทำให้สุนัขไม่อยากอาหาร เเละเกิดการสลายกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ การจัดการอาหารเพื่อป้องกันสภาวะนี้สามารถทำได้ดังนี้

โปรตีน

ในสัตว์ที่เป็นโรคหัวใจไม่ควรจะมีการจำกัดปริมาณโปรตีนในอาหาร ยกเว้นในกรณีที่เป็นโรคไตร่วมด้วย โดยปกติเเล้วควรจะมีปริมาณโปรตีนในอาหารอยู่ที่ 5.1 g/100 kcal


ทอรีน 

ทอรีนเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยปกติเเล้วสุนัขสามารถสร้างขึ้นได้เอง เเต่พบว่าในสุนัขที่เป็นโรคหัวใจโต (DCM) จะมีปริมาณของกรดอะมิโนตัวนี้น้อยกว่าปกติ ดังนั้นปริมาณที่เเนะนำในการให้เสริมเข้าไปในสุนัขที่มีการขาด คือ 500 - 1000 mg/dog ทุก 8 -12 ชั่วโมง


ไขมัน

ไขมันเป็นเเหล่งพลังงานเเละกรดไขมันจำเป็นต่าง ๆ เช่น กรดไขมันโมเมก้า 3 ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexanoic acid (DHA) กรดไขมันเหล่านี้นี้สามารถลดการสร้างสารสื่ออักเสบที่จะส่งผลทำให้สุนัขไม่อยากอาหารได้ การเสริมจะส่งผลดีต่อโรคหัวใจเเละเพิ่มความอยากอาหารได้ ปริมาณที่เหมาะสมคือ 40 mg/kg ของ EPA เเละ 25 mg/kg ของ DHA


เเมกนีเซียม (Magnesium)

เเมกนีเซียมเป็นตัวที่มีส่วนในการทำงานของหัวใจอยู่เเล้ว หากขาดเเมกนีเซียมจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ เเละเกิดการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติได้ ซึ่งโดยปกติเเล้วอาหารที่ทำมาเพื่อโรคหัวใจจะมีปริมาณเเมกนีเซียมอยู่ที่ 10 - 40 mg/100 kcal


Coenzyme Q10

Coenzyme Q10 มีประโยชน์มากมาย เช่น เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นเป็นหนึ่งในสารประกอบที่ใช้ในการสร้างพลังงาน เสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนี้ยังพบว่าสุนัขที่เป็นโรคหัวใจโตจะมีระดับของ coenzyme Q10 ต่ำกว่าสุนัขที่หัวใจปกติ ขนาดที่เหมาะสมในการเสริมสุนัขที่ขาด คือ 30 mg ต่อตัววันละ 2 ครั้ง


โซเดียม (Sodium)

ในสุนัขที่เป็นโรคหัวใจควรจะมีการจำกัดปริมาณโซเดียมในอาหาร เพื่อลดการคั่งของน้ำในร่างกายที่จะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ซึ่งปริมาณโซเดียมที่ควรควบคุมขึ้นอยู่กับสภาวะการดำเนินไปของโรค ดังนี้

●   โรคหัวใจที่ไม่เเสดงอาการ เเต่พบเสียงหัวใจเเละโครงสร้างของหัวใจที่ผิดปกติ ในกลุ่มนี้เเค่หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง (> 100 mg/100 kcal) หรืออาหารคนที่มีการปรุงรสจัด ๆ

●   โรคหัวใจที่เเสดงอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ไม่ทนต่อการออกกำลังกาย หัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติ ในกลุ่มนี้สามารถให้อาหารที่มีปริมาณโซเดียมไมเกิน 50 - 80 mg/100 kcal

●   โรคหัวใจที่เเสดงอาการเเบบรุนเเรง เช่น หายใจลำบาก มีภาวะท้องกาง การสูบฉีดเลือดไม่ดี ในกลุ่มนี้ต้องให้อาหารที่มีปริมาณของโซเดียมต่ำมาก ๆ คือ <50 mg/100 kcal

จากที่กล่าวมาทั้งหมดคือ ควรอาหารที่มีจำนวนเเคลลอรี่เเละโปรตีนเพียงพอหรือให้อาหารที่ทำมาเพื่อโรคหัวใจโดยเฉพาะ เเละในสุนัขที่ไม่อยากอาหารสามารถเพิ่มความน่ากินของอาหารโดยการเปลี่ยนจากอาหารเม็ดมาเป็นอาหารเปียก มีการอุ่นอาหารเพื่อเพิ่มกลิ่น เเละให้อาหารครั้งละน้อย ๆ เเต่บ่อยครั้ง ก็จะช่วยให้สุนัขกินอาหารได้มากขึ้นอีกด้วย

 

References
-          Devi S, Jani RG. Review on nutritional management of cardiac disorders in canines. Veterinary World. 2009 Dec 1;2(12):482-5.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้