ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันเห็บหมัดมากมาย ซึ่งบางชนิดสามารถป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ด้วย เเต่บางชนิดก็ไม่สามารถป้องกันได้ บทความนี้จะมาอธิบายถึงผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ เเละข้อดีข้อเสียของเเต่ละชนิด
ผลิตภัณฑ์รูปแบบยาฉีด
เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยา Ivermectin ซึ่งเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในการป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจในรูปเเบบยากิน เเต่ในปัจจุบันมีการใช้ในรูปแบบยาฉีดซึ่งเป็นการใช้ยานอกเหนือฉลาก การใช้ยาตัวนี้ต้องระวังในสุนัขที่มีพยาธิหนอนหัวใจอยู่เเล้ว การฉีดยาชนิดนี้เข้าไปอาจทำให้พยาธิหนอนหัวใจตัวอ่อนเกิดการตายอย่างรวดเร็ว เเละเหนี่ยวนำให้สุนัขเกิดการช็อคได้ ดังนั้นในการใช้ครั้งเเรกจำเป็นต้องมีการตรวจยืนยันว่าไม่มีการติดพยาธิหนอนหัวใจ เเละข้อควรระวังอีกอย่าง คือ การใช้ในสุนัขที่มีอายุมาก เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น อาการทางระบบประสาท ม่านตาขยาย ชัก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งตัวยาคือตัวยา Moxidectin ที่อยู่ในรูปเเบบยาฉีด ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนาน 6-12 เดือน
ผลิตภัณฑ์รูปเเบบยาหยอดหลัง ซึ่งมีหลากหลายผลิตภัณฑ์และหลากหลายตัวยา ตัวอย่างเช่น ตัวยา Selamectin ที่มีคุณสมบัติในการกำจัดตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจ และยังสามารถป้องกันปรสิตภายนอกเเละพยาธิภายในร่างกาย เช่น เห็บ หมัด ไร พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอได้อีกด้วย หรือตัวยา Moxidectin ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยา Moxidectin มักมีการเพิ่มตัวยา Imidacloprid ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มการป้องกันกำจัดหมัด เเละไร
ผลิตภัณฑ์ในรูปเเบบยากิน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของตัวยา Ivermectin หรือมีองค์ประกอบของตัวยา Milbemycin oxime ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของตัวยา Milbemycin oxime มักจะมีตัวยาออกฤทธิ์อีกหนึ่งตัวที่ใส่คู่กันเพื่อเพิ่มการป้องกันให้ได้ทั้งปรสิตภายนอก เห็บ หมัด ไรในหู ไรขี้เรื้อนเปียก เเละไรขี้เรื้อนเเห้ง
นอกจากนี้...เนื่องจากการติดพยาธิหนอนหัวใจมีพาหะที่สำคัญคือ ยุง ดังนั้นการป้องกันยุงก็เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขและแมว