Last updated: 4 ธ.ค. 2565 | 23378 จำนวนผู้เข้าชม |
วัคซีนลิวคีเมียและเอดส์แมว
เมื่อทราบข้อมูลของโรค การติดต่อ อาการทางคลินิก และวิธีการจัดการแล้ว ครั้งนี้จึงจะมาบอกวิธีการป้องกันไม่ให้น้องแมวของเราปลอดภัยจากโรคนี้กันนะคะ วิธีที่เราจะป้องกันได้นั่นก็คือ การทำวัคซีนนั่นเองค่ะ
วัคซีนลิวคีเมีย ปัจจุบันนี้ถูกจัดให้เป็นหนึ่ง “วัคซีนหลัก” แล้วนะคะ ซึ่งน้องแมวนั้น จะสามารถเริ่มทำวัคซีนลิวคีเมียได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ค่ะ แต่ก่อนจะทำ ควรมีการตรวจหาเชื้อด้วย test kit จำนวน 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ถ้าหากผลตรวจหาเชื้อลิวคีเมียเป็นลบทั้ง 2 ครั้ง จะสามารถทำวัคซีนได้เลยค่ะ
วัคซีนเอดส์แมว เป็นวัคซีนทางเลือก จะแนะนำให้ทำเฉพาะในแมวที่มีกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น (กลุ่มเสี่ยง ในที่นี้ คือ เลี้ยงนอกบ้าน มีโอกาสสัมผัสกับแมวตัวที่เป็น , อาศัยร่วมกับแมวที่ป่วยเป็นเอดส์แมว) เหตุผลที่แนะนำให้ทำในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากว่า การฉีดวัคซีนนั้นจะมีผลกับการตรวจด้วย Test kit ที่เป็นการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันนั่นเองค่ะ
การทำวัคซีนเอดส์แมว จะฉีดทั้งหมด 2 เข็ม และจากนั้นก็เป็นวัคซีนประจำปีค่ะ
ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่างๆ สนับสนุนให้ทำวัคซีนกันเป็นประจำทุกปีนะคะ
เจ้าของบางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วในกรณีไหนบ้าง ที่เราจะเลื่อนการทำวัคซีนไปก่อน นั้นได้แก่ แมวที่กำลังป่วยหนัก หรือ กำลังอยู่ในช่วงที่ทานยารักษาโรคอยู่นั่นเองค่ะ
ทั้งนี้ แมวสูงอายุ หรือ แมวที่ป่วยเป็นโรคแต่สามารถควบคุมอาการได้ เช่น โรคเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลได้ หรือโรคไต ที่ค่าไตคงที่ และไม่แสดงอาการทางคลินิกที่รุนแรง เหล่านี้สามารถทำวัคซีนตามโปรแกรมปกติได้เลยค่ะ
ขอยกตัวอย่างเคสที่พบการติดเชื้อนะคะ น้องเป็นแมว พันธุ์ไทย เพศผู้ อายุ 6 ปี ทำวัคซีนรวมและพิษสุนัขบ้าประจำปี เลี้ยงในบ้าน แต่มีหนีออกจากบ้านไปช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีประวัติการเจ็บป่วยแค่เอ็นอักเสบ ได้รับการรักษาจนหายดีค่ะ กระทั่งเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม เจ้าของแจ้งว่าน้องดูซึมลง ไม่ค่อยทานอาหาร คุณหมอตรวจร่างกายเบื้องต้น พบว่ามีต่อมน้ำเหลืองใต้คางโต และมีภาวะขาดน้ำ เมื่อตรวจเลือดเบื้องต้น พบความผิดปกติของค่าตับที่สูงกว่าเกณฑ์ปกติเล็กน้อย และเมื่อตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกันของเชื้อเอดส์แมว พบว่ามีการติดทั้งเชื้อลิวคีเมียและเอดส์แมว จากนั้นได้ทำการเอกซเรย์ช่องอก พบว่ามีน้ำในเยื่อหุ้มปอด และต่อมน้ำเหงืองในช่องอกก็โตขึ้นด้วยค่ะ
เนื่องจากพบว่ามีน้ำในเยื่อหุ้มปอด ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินต้องได้รับการแก้ไขทันที โดยการเจาะระบายน้ำออกเพื่อให้ปอดทำวานได้ดีมากขึ้น รวมทั้งนำน้ำไปส่งตรวจเพิ่มเติม พบว่ามีลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดขาวด้วยค่ะ นอกจากนี้ ได้ทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการอัลตร้าซาวน์ช่องท้องเพื่อพิจารณาว่ามีต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งอื่นๆ ขยายใหญ่ด้วยหรือไม่ ก็พบว่ามีต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องโตขึ้นในหลายๆตำแหน่ง ซึ่งจากผลทั้งหมด นึงได้ทำการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่อาจโน้มนำมาจากโรคลิวคีเมียนั่นเองค่ะ อีกทั้งการที่น้องแมวมีอาการทรุดลงมาก เป็นไปได้ว่าเพราะมีการติดเชื้อเอดส์แมวร่วมด้วยทำให้ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำกว่าปกติ จึงทำให้ลิวคีเมียแสดงอาการรุนแรงมากขึ้นค่ะ ดังนั้น การรักษาในเคสนี้คือ การใช้คีโมเพื่อทำการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว และ ทำการรักษาตามอาการที่พบได้นั่นเองค่ะ เมื่อได้รับการดูแลที่บ้าน น้องแมวตัวนี้จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งด้านอาหารและที่อยู่อาศัย และจะต้องถูกแยกเลี้ยงออกมาเพียงตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมโดยสิ่งที่ควรมีพื้นฐานเลยก็คือ ชามน้ำ ชามอาหาร กระบะทราย ที่ลับเล็บ และที่นอน เพื่อลดความเครียดที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุดนั่นเองค่ะ