รับน้องแมวตัวใหม่มาเพิ่ม ต้องตรวจลิวคีเมียกับเอดส์แมวไหม?
การตรวจลิวคิเมียและเอดส์แมว จะใช้เป็นการตรวจ แอนติเจน (antigen) ต่อเชื้อ FeLV และตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ต่อเชื้อ FIV ด้วยวิธี test kit โดยจะตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 2 เดือน ก็จะทำให้เราสามารถทราบสถานะการติดเชื้อของน้องแมวได้แล้ว
คำถามต่อมาคือ เมื่อไรที่เราต้องตรวจโรคลิวคิเมียและเอดส์แมว?
สัตวแพทย์จะแนะนำให้เจ้าของแมวต้องตรวจโรคลิวคิเมียและเอดส์แมวได้ 5 กรณี
- แมวใหม่ที่เพิ่งได้รับมา ข้อมูลที่ได้จากการตรวจมีความสำคัญมากโดยเฉพาะในบ้านที่มีการเลี้ยงแมวหลายตัว เพราะจะส่งผลต่อการจัดการการเลี้ยงภายในบ้าน ขณะที่บ้านที่เลี้ยงแมวเพียงตัวเดียวก็ยังจำเป็นต้องตรวจ เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการตรวจจะช่วยให้เจ้าของสามารถวางแผนการจัดการสุขภาพน้องแมวในอนาคตได้ถูกต้อง
- แมวที่มีประวัติสัมผัสกับแมวที่เป็นโรคหรือประวัติไม่แน่ชัด กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจึงควรมีการตรวจแม้แมวตัวนั้นจะไม่มีอาการหรือเคยตรวจไปแล้วก็ตาม
- แมวที่ต้องการทำวัคซีนลิวคีเมีย แมวทุกตัวก่อนทำวัคซีนลิวคีเมียจะต้องมีการตรวจภาวะการติดเชื้อลิวคีเมียและเอดส์แมวก่อนเสมอ เพราะแมวที่เป็นโรคอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องทำวัคซีนลิวคีเมีย แต่วัคซีนชนิดอื่นๆ เช่นวัคซีนไข้หัดหวัดแมว วัคซีนพิษสุนัขบ้า เป็นต้น ยังจำเป็นต้องทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
- แมวที่แสดงอาการป่วยของโรค เนื่องจากโรคนี้มีอาการป่วยที่หลากหลายทำให้ทุกครั้งที่แมวที่ไม่เคยมีประวัติการตรวจลิวคีเมียและเอดส์แมว หรือมีประวัติการสัมผัสแมวอื่นๆแสดงอาการป่วยและมาที่คลินิค สัตวแพทย์จะแนะนำให้ตรวจลิวคีเมียและเอดส์แมวร่วมด้วยทุกครั้งเพื่อหาสาเหตุของอาการป่วยที่เกิดขึ้น
- แมวที่จะเป็นผู้บริจาคเลือด (donor) แก่แมวตัวอื่น กรณีนี้จะพิเศษกว่ากรณีอื่นๆ เพราะเนื่องจากจะต้องตรวจการติดเชื้อลิวคีเมียและเอดส์แมวด้วยวิธี test kit ยังต้องนำตัวอย่างเลือดส่ง PCR เพื่อหาการติดเชื้อ FeLV หรือเชื้อลิวคีเมียอีกด้วย เนื่องจากเชื้อนี้สามารถติดต่อผ่านทางการให้เลือดได้อีกด้วย
หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของแมวทุกท่าน เพื่อตัดสินใจตรวจโรคลิวคีเมียและเอดส์แมว ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถวางแผนจัดการสุขภาพและสวัสดิภาพน้องแมวในอนาคต