รู้หรือไม่ น้องหมาก็เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
ในปัจจุบันการเลี้ยงสุนัขนั้นเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยส่วนมากเจ้าของจะเลี้ยงน้องหมาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว แต่หากว่าวันใดวันหนึ่ง น้องหมาที่เราเลี้ยงอยู่นั้นเกิดอาการไม่ทักทายเจ้าของเหมือนก่อน หรือแม้อาจมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ไปจนถึงกัดเจ้าของได้นั้น อาจเป็นสัญญาณบอกเหตุของโรคสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์
สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ในสุนัข (Alzheimer’s Disease)
สาเหตุหลัก ๆ ของโรคนี้เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ที่สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกับคน ซึ่งจะเป็นไปตามอายุ และตามธรรมชาติ โดยส่วนมากจะพบได้กับสุนัขที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป และเกิดได้จากความเจ็บป่วยที่ส่งผลต่อสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มอักเสบ หรือการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น โดยสุนัขที่เริ่มมีอาการสมองเสื่อมนั้นจะมีเนื้อสมองที่มีขนาดเล็กลง คล้ายกับสมองของผู้สูงอายุนั่นเอง
อาการที่บ่งบอกว่าน้องหมาของคุณเข้าข่ายเป็นโรคอัลไซเมอร์
- มีปฏิสัมพันธ์การแสดงออกต่อเจ้าของ หรือกับสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เปลี่ยนไป อาจแสดงออกมาในลักษณะของการรำคาญเมื่อมีสัตว์อื่น ๆ เข้ามาใกล้ มีการแยกตัวจากเจ้าของ ไม่สนใจ เมื่อเจ้าของกลับมาบ้าน หรือเข้ามาใกล้ จนอาจไปถึงขั้นกัดและจู่โจมเจ้าของได้
- มีอาการมึนงง หลงทิศ ย้ำคิด ย้ำทำ อาจแสดงออกมาในลักษณ์ของการเดินไปวงกลาง หรืออาจเดินไปด้านซ้าย และขวา ด้านใดด้านหนึ่งซ้ำ ๆ ดูกระวนกระวาย หรือมีการเดินเรื่อยเปื่อยแบบไม่มีจุดหมายปลายทาง ในบางครั้งก็มีอาหารนอนหลับสลับเวลา ซึ่งจะหลับในเวลากลางวัน และตื่นตอนกลางคืน หรืออาจมีการขับถ่าย ปัสสาวะในบ้านเพราะคิดว่าเป็นนอกบ้านก็เป็นได้
- ร้อง เห่า หรือกลัวสิ่งที่ไม่เคยกลัวมาก่อน โดยอาการเหล่านี้จะบ่งชี้ถึงการสูญเสียสมองใญ่ หรือ ซีรีบรัม (Cerebrum) ของน้องหมาอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่สามารถรักษาเพื่อช่วยชะลออาการเสื่อมของสมองได้ เพื่อทำให้น้องหมาของท่านมีอายุที่ยาวนานได้มากขึ้น โดยยาที่ใช้เพื่อชะลออาการคือ ยารักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) ในคน หรือที่มีชื่อเรียกว่า Selegiline Hydrpchloride (L-deprenyl HCl)
หากต้องการดูแลน้องหมาที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ สามารถดูแลได้ตามวิธี ดังนี้
- เมื่อต้องการให้อาหาร ควรหาสูตรอาหารที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสมอง มีการเตรียมชามน้ำ และอาหารให้มีขนาด หรือความสูงที่พอดี เพื่อให้น้องหมาสามารถกินได้อย่างพอดี
- ให้ความสนใจโดยการกระตุ้นอารมณ์น้องหมา ไม่ว่าจะเป็น การพาไปเดินเล่น ชวนพูดคุยเป็นประจำ
- ควรดูแลอย่างใกล้ชิด โดยการใส่กระดิ่งที่ปลอกคอเพื่อให้รู้ว่าน้องหมาอยู่ตรงจุดไหน และไม่ควรปล่อยให้ขึ้นลงบันไดเอง เพราะอาจเกิดอันตรายได้
- ไม่ควรย้ายตำแหน่งเข้าของ หรือเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เพราะจะส่งผลให้น้องหมายิ่งเกิดความสับสนได้ และก่อให้เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น
ถึงแม้โรคอัลไซเมอร์นี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเป็นโรคตามธรรมชาติ และตามช่วงวัย แต่การสังเกตอาการ การดูแลน้องหมาของท่านอย่างใกล้ชิดจะมีส่วนช่วยให้สามารถป้องกัน หรือชะลออาการนนี้ได้ ดังนั้นหากหมั่นดูแลน้องหมาอย่างใกล้ชิด หรือหากมีโอกาสสามารถพาน้องหมาของท่านไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยให้น้องหมามีสุขภาพที่แข็งแรง และมีอายุที่ยืนยาวขึ้นได้อย่างแน่นอน