Last updated: 20 พ.ค. 2566 | 3823 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคหัวใจในแมว
แมวก็คล้ายกับคนและสุนัขที่มีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน แต่ชนิดของโรคหัวใจอาจแตกต่างไป โรคหัวใจในแมว สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ โรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด และโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลังกำเนิด
1) กลุ่มโรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด
จะพบในแมวที่อายุยังน้อย โดยมากมักพบในลูกแมวที่ยังอายุไม่ครบ 1 ปี อย่างไรก็ตามในลูกแมวที่ไม่แสดงอาการป่วย และความรุนแรงของโรคไม่มาก อาจพบโรคหัวใจแต่กำเนิดโดยบังเอิญในแมวที่อายุมากได้เช่นกัน โรคหัวใจที่เป็นแต่กำเนิดที่พบได้โดยมากในแมว ได้แก่
- กลุ่มโรครูรั่วผนังกั้น ทั้งรูรั่วผนังกั้นหัวใจห้องบน และห้องล่าง (atrial และ ventricular septal defects; ASD และ VSD) โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับขนาดรูรั่ว หากขนาดไม่ใหญ่ แมวอาจไม่แสดงอาการป่วยตลอดชีวิต และอาจไม่จำเป็นต้องรับยารักษาโรคหัวใจ แต่หากรูรั่วมีขนาดใหญ่อาจทำให้หัวใจโตและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้
- กลุ่มโรคลิ้นหัวใจรั่วจากการเจริญผิดปกติ ซึ่งสามารถพบได้ทั้งลิ้นที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนและล่าง ทั้งซ้ายและขวา เช่น โรคลิ้นไตรคัสปิด ดิสเพลเซีย (tricuspid dysplasia) และโรคลิ้นไมทรัล ดิสเพลเซีย (mitral dysplasia) หากเป็นลิ้นที่กั้นหัวใจด้านขวาอาจทำให้เกิดปัญหาหัวใจด้านขวาล้มเหลว ส่วนหากเป็นลิ้นกั้นหัวใจด้านซ้ายก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจด้านซ้ายล้มเหลวตามมาได้
- โรคไส้เลื่อนถุงหุ้มหัวใจและเยื่อบุช่องท้อง (peritoneopericardial diaphragmatic hernia) เป็นโรคหัวใจที่เป็นแต่กำเนิดที่สามารถพบได้บ่อยในแมว โดยความผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเจริญที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บในภายหลังเหมือนไส้เลื่อนกระบังลม การเชื่อมกันของถุงหุ้มหัวใจและเยื่อบุช่องท้องจะทำให้เกิดการเคลื่อนของอวัยวะในช่องท้องเคลื่อนเข้าสู่ถุงหุ้มหัวใจ ทำให้เงาหัวใจจากภาพถ่ายรังสีดูโตขึ้นมากกว่าปกติ โดยมากแมวที่เป็นโรคนี้ มักไม่แสดงอาการป่วย สัตวแพทย์จึงมักตรวจเจอโรคนี้โดยบังเอิญจากการตรวจโรคอื่นๆ อย่างไรก็ตามแมวที่แสดงอาการป่วยเช่น หายใจลำบาก หรืออาการอาเจียน จากการที่มีลำไส้เคลื่อนเข้าไปในถุงหุ้มหัวใจ สัตวแพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดแก้ไขภาวะดังกล่าว
- โรคที่เกิดจากการเจริญของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นลักษณะวงแหวนรัดรอบหลอดอาหาร (vascular ring anomaly) ลูกแมวที่เป็นโรคนี้มักแสดงอาการป่วย ภายหลังจากการเริ่มกินอาหารแข็ง เนื่องจากอาหารไม่สามารถเคลื่อนผ่านจุดที่ตีบแคบจากหลอดเลือดที่รัดอยู่ภายนอกได้ แมวจะมีอาการขย้อนอาหาร เมื่อตรวจดูจะพบลักษณะหลอดอาหารขยายใหญ่หน้าจุดที่เกิดการตีบรัด โรคนี้สามารถแก้ไขโดยการผ่าตัด
2) กลุ่มโรคหัวใจที่เป็นภายหลังกำเนิด
พบในแมวกลางวัยจนถึงอายุมากเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามในแมวบางสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากๆ อาจเป็นโรคได้ตั้งแต่อายุยังไม่มากนัก กลุ่มโรคหัวใจที่เป็นภายหลังกำเนิดในแมวส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยสามารถแบ่งได้เป็น
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ (Hypertrophic cardiomyopathy) เป็นโรคหัวใจชนิดที่พบได้มากที่สุดในแมวในปัจจุบัน โรคนี้ทำให้เกิดการหนาตัวของผนังหัวใจห้องล่างและทำให้เกิดปัญหาการคลายตัวของหัวใจห้องล่าง และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา โรคนี้สามารถเกิดขึ้นแบบปฐมภูมิคือเป็นความผิดปกติที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง และแบบทุติยภูมิคือการหนาตัวของผนังห้องหัวใจซึ่งเกิดจากสาเหตุหรือโรคอื่นๆ โน้มนำ เช่น ภาวะความดันเลือดสูง โรคฮอร์โมนไทรอยด์สูงกว่าปกติ โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ และโรคโกรทฮอร์โมนสูงกว่าปกติ (acromegaly) เป็นต้น
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดบีบรัด (Restrictive cardiomyopathy) เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ แบบมีการสะสมของพังผืด โดยการสะสมอาจพบที่ผนังหัวใจด้านในหรือที่กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจห้องล่างมีปัญหาในการคลายตัว ส่งผลให้เลือดคงค้างอยู่ที่หัวใจห้องบน จึงพบลักษณะหัวใจห้องบนโต และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา ความรุนแรงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดบีบรัด มักมีความรุนแรงมากกว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติในระยะแรก การพยากรณ์โรคจึงมักไม่ค่อยดี และแมวที่เป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสียชีวิตสูง
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (Dilated cardiomyopathy) เป็นโรคหัวใจที่พบมากในสมัยก่อน สาเหตุเกิดจากการขาดทอรีน แต่ปัจจุบันมีการเสริมทอรีนให้ในอาหารสำเร็จรูปสำหรับแมว โรคนี้จึงพบน้อยลงมาก จนแทบไม่พบในปัจจุบัน โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจชนิดที่เสียหน้าที่ในช่วงหัวใจบีบตัว ทำให้เกิดการคงค้างของเลือดในห้องหัวใจและเกิดภาวะหัวใจโตตามมา ในระยะท้ายแมวอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้น การดูแลเรื่องการให้อาหารที่มีคุณภาพแก่แมวจึงมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรคนี้ได้
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีจุดกำเนิดจากหัวใจห้องขวา (Arrhythmogenic right ventricular cardiomyopathy) หรือโรคที่เกิดความผิดปกติขึ้นที่หัวใจทางด้านขวา ทำให้เกิดการขยายใหญ่ของหัวใจด้านขวาเป็นหลัก โดยแมวอาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นร่วมด้วย แมวที่เป็นโรคนี้อาจมีภาวะหัวใจด้านขวาล้มเหลว เช่น ท้องมาน หรือการหายใจลำบากจากการสะสมของของเหลวในช่องอก ในกรณีที่แมวมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วยจะเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะตายเฉียบพลันได้
ในบางกรณีหากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจไม่ชัดเจน และไม่สามารถระบุชนิดของโรคกล้ามเนื้อหัวใจได้ สัตวแพทย์อาจเรียกลักษณะดังกล่าวเป็นกลุ่มโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ หรือ unclassified cardiomyopathy ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดต่างๆ ในแมวที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และการตายเฉียบพลัน
- ภาวะหัวใจล้มเหลว พบได้ในแมวที่เป็นโรคหัวใจประมาณร้อยละ 20 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้แมวเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว คือความเครียด เจ้าของจึงควรดูแล และลดโอกาสที่จะกระตุ้นความเครียดให้กับแมวที่เป็นโรคหัวใจ เมื่ออยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว แมวอาจแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร หายใจลำบาก หายใจเร็ว เนื่องจากมีภาวะน้ำท่วมปอด หรือมีของเหลวสะสมในช่องอก บางตัวอาจมีอาการเป็นลม อ่อนแรง หากมีปัญหาที่หัวใจด้านขวาอาจพบปัญหาท้องมาน หรือปลายขาบวมน้ำร่วมด้วย หากเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้น แมวจำเป็นต้องได้รับยาโรคหัวใจเพื่อช่วยควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดขึ้น และแมวจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพื่อเฝ้าระวังอาการและผลข้างเคียงจากยารักษาโรคหัวใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ และช่วยให้ชีวิตแมวยาวนานขึ้น
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน มักพบมากในแมวที่มีปัญหาหัวใจร่วมด้วย โดยแมวจะแสดงอาการไม่ใช้ขาที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในช่วงแรกแมวอาจแสดงอาการเจ็บปวดเมื่อคลำ ปลายขาเย็น ซีด สัตวแพทย์คลำไม่พบชีพจร ขาเป็นอัมพาต หากลิ่มเลือดอุดตันคงค้างอยู่ อาจส่งผลให้เกิดเนื้อตายที่ขาและการติดเชื้อตามมาได้ โดยมากสัตวแพทย์จะจ่ายยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันให้แมวที่เป็นโรคหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว อย่างไรก็ตามการกินยาอาจไม่สามารถป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ 100% เจ้าของจึงควรเฝ้าระวังอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น การที่เจ้าของสามารถพาแมวมาพบสัตวแพทย์ได้ในระยะแรกของการแสดงอาการ อาจช่วยให้แมวมีโอกาสหายและฟื้นคืนจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การติดเชื้อแทรกซ้อน หรือการเกิดอัมพาตถาวรได้
- การตายเฉียบพลัน ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุหรือปัจจัยโน้มนำของการเสียชีวิตเฉียบพลันในแมวที่เป็นโรคหัวใจ คาดว่าอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจที่หนามากจนมีผลต่อการสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจ หรือ อาจเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เนื่องจากยังไม่ทราบปัจจัยโน้มนำที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการตายเฉียบพลัน เจ้าของแมวอาจช่วยได้ โดยการลดกิจกรรมที่อาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจมากเกินไป เช่น การเล่นที่หักโหมทั้งจากเจ้าของหรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ ในบ้าน การขึ้นลงบันได หรือการกระโดดขึ้นลงที่มีความสูงมากๆ ที่อาจต้องใช้พลังงานและส่งผลต่อการทำงานของหัวใจมากขึ้น
ศูนย์โรคหัวใจสัตว์เลี้ยง
ให้บริการวินิจฉัยอาการผิดปกติหัวใจ และให้การรักษาสัตว์ป่วยโรคหัวใจ ที่มีความซับซ้อนโดยทีมสัตวแพทย์ จะทำการซักประวัติการเลี้ยงดูเบื้องต้น และประเมินดูจากสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคหัวใจ จากนั้นจะตรวจร่างกายโดยสังเกตการหายใจ ดูสีเยื่อเมือกบริเวณเหงือก ฟังเสียงปอด เสียงหัวใจ และคลำบริเวณช่องอกช่องท้อง เพื่อจับชีพจร
เมื่อสัตวแพทย์ซักประวัติ และตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว พบว่าสัตว์เลี้ยงเลี้ยงของท่าน มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ สัตวแพทย์ผู้ดูแลจะทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่ม ด้วยวิธีดังนี้
- ถ่ายภาพเอกซเรย์ช่องอก (X-ray)
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)
- ตรวจอัลตราซาวน์หัวใจ (Echocardiogram)
- ตรวจวัดความดันโลหิต
- ตรวจเลือด ตามลำดับขั้นตอนการรักษา
รักลูกคุณเหมือนที่คุณรัก
โรงพยาบาลสัตว์เศรษฐกิจสัตวแพทย์
เวลาทำการปกติ : 08.00 – 22.00 น.
Tel. 02-809-2372 , 02-809-1615
Line Id : @setthakit_ah
นัดหมายสัตวแพทย์ / จองห้องพักสัตว์เลี้ยง
https://shorturl.asia/DwXa4
Location : https://g.page/setthakitanimalhospital?share
14 ส.ค. 2566
10 พ.ย. 2565