พยาธิหนอนหัวใจ ติดต่อได้อย่างไร วิธีตรวจวินิจฉัย วิธีการรักษา

Last updated: 27 ส.ค. 2567  |  1061 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พยาธิหนอนหัวใจ ติดต่อได้อย่างไร วิธีตรวจวินิจฉัย วิธีการรักษา

พยาธิหนอนหัวใจภัยร้ายใกล้สัตว์เลี้ยงของคุณ

โรคพยาธิหนอนหัวใจ เเค่ได้ยินชื่อเจ้าของหลายคนคงจะคุ้น ๆ กันเเน่ เนื่องจากเป็นโรคที่สัตวแพทย์มักจะพูดถึงเวลาพาสุนัขหรือเเมวไปหาหมอ ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงความสำคัญเเละความอันตรายของโรคนี้กันว่าทำไมสัตวแพทย์ถึงชอบย้ำเตือนให้ป้องกันการเกิดโรคนี้

 

เกิดจากอะไร? ติดต่อได้อย่างไร?


เกิดจากพยาธิที่ชื่อว่า Dirofilaria immitis ซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรค

โดยวงจรการเกิดโรคเริ่มจากสุนัขตัวที่เป็นโรคจะมีตัวอ่อนระยะที่ 1 อยู่ภายในตัว เมื่อยุงมากัดสุนัขตัวนี้ก็จะได้รับตัวอ่อนไป เเละเกิดการพัฒนาจนเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 เเละเมื่อยุงตัวนี้ไปกัดสุนัขที่ไม่เคยเป็นโรคมาก่อน ก็จะส่งผ่านตัวอ่อนระยะที่ 3 ไป เเละเกิดการพัฒนาเป็น ตัวอ่อนระยะที่ 4 เเละตัวเต็มวัยตามลำดับ โดยใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน เเละตัวเต็มวัยของพยาธิชนิดนี้สามารถอยู่ได้นานถึง 5-7 ปี

พยาธิตัวเต็มวัยจะอยู่ในหลอดเลือดที่ออกจากหัวใจไปที่ปอด (pulmonary atery) ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองเเละการอักเสบของหลอดเลือด ทำให้โครงสร้างของหลอดเลือดเปลี่ยนแปลงไป เกิดการลอกหลุดของชั้นเยื่อบุหลอดเลือด เหนี่ยวนำให้เกิดการเข้ามาของเกร็ดเลือด ทำให้เกิดการตีบเเคบเเละขดงอของ pulmonary artery ซึ่งกระบวนการนี้จะเริ่มเกิดหลังจากที่มีตัวเต็มวัยของพยาธิหนอนหัวใจอยู่ในหลอดเลือด 3-4 สัปดาห์

หากเริ่มมีจำนวนของพยาธิหนอนหัวใจมากขึ้น อาจจะทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด ส่งผลทำให้เกิดความเสียหายต่อปอดเเละหัวใจ เกิดภาวะหัวใจวายได้

เเละถ้าพยาธิเริ่มเกิดการตาย เศษซากของมันก็จะล่องลอยไปในเส้นเลือดเเละเหนี่ยวนำให้เกิดการอุดตันในปอดได้อีกด้วย

ความเสี่ยงในการติดโรคพยาธิหนอนหัวใจ

สุนัขที่มักจะเป็นโรคนี้มักอยู่ในช่วงอายุ 4-8 ปี เเละจากงานวิจัยพบว่าเพศผู้จะเกิดการติดโรคได้มากกว่าเพศเมียถึง 2-4 เท่า เเละมักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่เลี้ยงนอกบ้าน ไม่ได้ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจเป็นประจำ โดยอาการของสุนัขคือ

อาการที่พบ คือ 

  • ไม่ทนต่อการออกกำลังกาย
  • เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก
  • ท้องกาง
  • ไอเรื้อรัง
  • น้ำหนักลด หรือเป็นลม

วิธีการตรวจวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคพยาธิหนอนหัวใจทำได้โดย
1. ใช้เลือดสดดูผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจในกระแสเลือด

2. ใช้ชุดทดสอบหาภาวะการติดเชื้อของโรคพยาธิหนอนหัวใจ เป็นการตรวจวิเคราะห์ทางอิมมูโนโครมาโตกราฟฟี่  เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากสามารถวินิจฉัยโรคได้ทันที มีความแม่นยำสูง ทำให้สัตวแพทย์วางแผนการดูแลหรือรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

3.ตรวจด้วยเอ็กซเรย์ วิธีนี้จะใช้ดูภาพเงาของขนาดหลอดเลือดที่อยู่ในช่องอก และขนาดของหัวใจ 

4.ตรวจด้วยอัลตราซาวด์ วิธีนี้สามารถมองเห็นภาพพยาธิหนอนหัวใจที่อยู่ในห้องหัวใจของสัตว์ป่วยได้

การรักษา
การรักษาสามารถเเบ่งเป็นการรักษาทางยาในกรณีที่มีจำนวนของพยาธินอนหัวใจไม่เยอะมาก โดยแผนการรักษา
ดังนี้

  1. ในวันเเรกสัตวแพทย์จะให้ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ เพื่อฆ่าพยาธิหนอนหัวใจตัวอ่อน เเละจะให้ยาฏิชีวนะ คือ Doxycycline เพื่อฆ่าเชื้อเเบคทีเรียที่ชื่อว่า วูลบาเคีย (Wolbachia) ซึ่งเป็นเเบคทีเรียที่มีความจำเป็นในการดำรงค์ชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจ โดยระยะเวลาในการให้คือ 4 สัปดาห์ (วันที่ 1-30)
  2.  วันที่ 31 จะให้ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจครั้งที่ 2 ต่ออีก 1 เดือน

  3.  วันที่ 61 จะมีการให้ยาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยคือ melarsomine ฉีดผ่านทางกล้ามเนื้อโดยจะให้ 3 เข็ม ห่างกัน 1 เดือนเเละ 1 วันตามลำดับ

  4.  30 วันหลังจากให้ยาฆ่าพยาธิเข็มสุดท้ายจะมีการตรวจหาพยาธิหนอนหัวใจอีกครั้ง โดยใช้วิธี modified Knott test หากไม่พบเเล้ว ให้ตรวจหาการติดพยาธิหนอนหัวใจซ้ำอีกครั้งด้วยการใช้ antigen test kit หลังจากให้ยาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยเข็มสุดท้ายไปเเล้ว 9 เดือน

 

สำหรับในกรณีที่พบว่าสุนัขป่วยที่มีจำนวนพยาธิหัวใจปริมาณมาก ร่วมกับการเกิดพยาธิสภาพของหัวใจ ปอด ตับ ทำให้ไม่สามารถรักษาแบบการใช้ยาอย่างเดียวได้ เพราะสัตว์มีความเสี่ยงและอาจเสียชีวิตจากการให้ยาฆ่าพยาธิตัวแก่ จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการเปิดหลอดเลือดดำที่บริเวณคอและใช้เครื่องมือช่วยในการนำพยาธิหัวใจออกมา ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้อาจไม่สามารถเอาจำนวนพยาธิออกได้ทั้งหมด แต่จะช่วยลดพยาธิสภาพและการอุดตันของพยาธิตัวเต็มวัยที่อยู่ในหัวใจหรือหลอดเลือดที่ปอด ทำให้สัตว์ป่วยมีอาการดีขึ้นก่อนที่จะทำการรักษา พยาธิตัวเต็มวัยด้วยวิธีอื่นต่อไป


ขอขอบคุณภาพจาก: American Heartworm Society

 

จะเห็นได้ว่าเมื่อสุนัขหรือเเมวเกิดการติดโรคพยาธิหนอนหัวใจเเล้ว ส่งผลต่อสุขภาพค่อนข้างมากเเละอาจเหนี่ยวนำให้เกิดการเสียชีวิตได้อีกด้วย เเละการรักษากินเวลาค่อนข้างนานเเละมีความเสี่ยงในการเกิดการอุดตันของเส้นเลือดในปอดค่อนข้างง่าย

ดังนั้นการป้องกันเเละสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคนี้ เเละทางที่ดีสุนัขหรือเเมวควรได้รับการตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละครั้ง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้