Last updated: 30 Aug 2023 | 1264 Views |
เช็คให้ดีถ้ามีสัญญาณเหล่านี้สัตว์เลี้ยงอาจจะเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
โรคหัวใจที่พบในสัตว์เลี้ยงสามารถพบได้เช่นเดียวกับในคน คือสามารถพบได้ตั้งแต่เกิดตามกรรมพันธ์ุ หรือพบภายหลังตามมา ซึ่งโดยทั่วไปมักพบว่าโรคหัวใจมีการพัฒนาขึ้นในช่วงกลางชีวิต โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลังเป็นลักษณะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอายุมาก
โรคหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ โรคลิ้นหัวใจรั่ว และโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ
โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจ โดยมีการปิดไม่ดี ทำให้มีการรั่วไหลย้อนของเลือด ส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในสุนัข
โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ จะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการหนาตัว จะพบบ่อยในแมวมากกว่าหมา ส่วนความผิดปกติกล้ามเนื้อหัวใจอีกชนิด คือผนังกล้ามเนื้อหัวใจบางกว่าปกติและมีความอ่อนแอ ทีมีผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง ซึ่งกรณีนี้มักพบในสุนัขมากกว่าแมว
โรคหัวใจทั้งสองชนิดจะค่อยพัฒนาขึ้นโดยใช้ระยะเวลา แต่ผลในที่สุดคือก่อให้เกิดภาวะที่มีความรุนแรงต่อการทำงานของหัวใจที่เรียกว่า “หัวใจล้มเหลว” ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตในที่สุด
แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า สัตว์เลี้ยงกำลังเสี่ยงกับโรคหัวใจ ส่วนใหญ่สัตว์เลี้ยงจะแสดงอาการออกมา ได้แก่ ซึม อ่อนเพลีย เป็นลมหมดสติออกกำลังได้น้อย เหนื่อยง่าย หายใจลำบากช่องท้องบวม ไอ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ขาหลังเป็นอัมพาตบางส่วน (พบในแมว)
โรคหัวใจของสุนัขและแมวอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ป่วยด้วยโรคหัวใจสามารถควบคุมอาการของโรคได้ ด้วยการให้อาหารที่ถูกต้องการออกกำลังกาย และการใช้ยาโรคหัวใจ ด้วยการเลือกใช้อาหารที่ถูกต้องร่วมกับคำแนะนำของสัตวแพทย์ จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุขภาพแข็งแรง
ผู้ที่จะให้คำตอบที่ดีที่สุดว่าสุนัขหรือแมวเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ก็คือสัตวแพทย์ประจำตัวสัตว์เลี้ยงของท่าน โดยเฉพาะสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ในด้านโรคหัวใจจะสามารถให้คำตอบที่แม่นยำได้ ดังนั้น การนำสัตว์เลี้ยงของทานไปตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจร่างกายโดยการฟังการเต้นของหัวใจจะสามารถบอกความผิดปกติของหัวใจในระยะเริ่มแรกได้
24 Aug 2024
13 Sep 2024