Last updated: 30 ส.ค. 2566 | 2052 จำนวนผู้เข้าชม |
รู้หรือไม่ !!! น้องหมาก็ต้องแปรงฟันเหมือนกันนะ
หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า บริเวณช่องปากและฟันของน้องหมาเป็นส่วนเล็ก ๆ ในร่างกายที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากนัก แต่จริง ๆ แล้ว ช่องปากและฟันของน้องหมาถือเป็นอวัยวะส่วนสำคัญที่มักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะในน้องหมากลุ่มเสี่ยงอย่าง น้องหมาสายพันธุ์เล็ก เช่น ชิวาวา ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย ชิสุ ฯลฯ ที่โดยธรรมชาติจะมีอายุยืนกว่าน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ รวมถึงน้องหมาพันธุ์หน้าสั้น เช่น ปั๊ก บอสตันเทอร์เรีย อิงลิช บูลด็อก ฯลฯ ที่มักมีการเรียงตัวของคราบอาหารที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของโรคช่องปากและฟันในน้องหมา
ปัญหาของช่องปากในน้องหมาส่งผลให้น้องหมาเกิดความเจ็บปวด ซึม ไม่ร่าเริงเหมือนเคย กินอาหารได้น้อยลง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม นอกจากนี้ปัญหาจากช่องปากสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและหัวใจได้
ส่วนมากปัญหาของช่องปากในน้องหมาจะเกิดขึ้นกับน้องหมาที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป โดยโรคปริทันต์ เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดเกิดขึ้นจากคราบน้ำลาย (Pellicle) ที่ถูกสร้างขึ้นตามปกติเพื่อรักษาตัวฟันในแต่ละวัน ถูกสะสมไปด้วยแบคทีเรียในช่องปากจนกลายเป็นคราบพลัค (Dental Plaque)
เพราะในช่องปากของน้องหมามี pH เป็นด่างอยู่ที่ 7.5 เมื่อเจอกับแร่ธาตุในน้ำลายก็จะแข็งตัวจนกลายเป็นคราบหินปูน (Dental Calculus) ส่งผลให้อวัยวะปริทันต์อักเสบ สุนัขจะมีกลิ่นปาก เหงือกอักเสบ ฟันโยกคลอน หากเป็นมากสามารถเกิดการติดเชื้อและกลายเป็นฝีรากฟันได้
ดังนั้นเพื่อสุขภาวะที่ดีของสุนัข เราควรจะเริ่มแปรงฟันสุนัขตั้งแต่ยังเล็ก เริ่มได้ตั้งแต่สุนัขอายุ 6 เดือน เป็นต้นไป เพื่อให้สุนัขคุ้นเคย แต่หากเริ่มฝึกแปรงฟันตอนสุนัขมีอายุมาก ควรฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น เริ่ม หัดจับบริเวณปาก แล้วค่อยเริ่มแปรงฟันโดยใช้ปลอกนิ้วก่อนจะใช้แปรงสีฟันสำหรับสุนัข เป็นต้น
ที่สำคัญคือ ให้ใช้ยาสีฟันสำหรับสุนัข ห้ามใช้ยาสีฟันของคนเด็ดขาด เนื่องจากยาสีฟันของคนโดยทั่วไปมักผสมฟลูออไรด์และซอร์บิทอลที่เป็นพิษกับสุนัข โดยให้สุนัขลองลิ้มรสยาสีฟันก่อน โดยอาจป้ายไว้ที่จมูกให้สุนัขเลียก่อนให้คุ้นเคย เมื่อแปรงฟันด้วยยาสีฟันสำหรับสุนัขเสร็จไม่จำเป็นต้องบ้วนน้ำออก หลังจากแปรงฟันเสร็จควรชื่นชม หรือให้ขนมขัดฟันในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี
แต่จะดีที่สุดถ้าพาสุนัขไปรับการตรวจฟันกับสัตวแพทย์เป็นประจำ ทุก 6 เดือน หรือหนึ่งปีตามที่สัตวแพทย์แนะนำ เพราะฟันของสัตว์เลี้ยงก็เหมือนฟันของคนเรา ที่ต้องได้รับการดูแล อย่างสม่ำเสมอ เพราะ ถ้าหมาและน้องแมวมีปัญหาด้านสุขภาพช่องปากและฟันอาจจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่ตามมา ซึ่งอาจจะนำมาสู่ปัญหาที่สายเกินแก้
29 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567