Last updated: 25 ก.พ. 2568 | 331 จำนวนผู้เข้าชม |
วันเวลามักผ่านไปอย่างรวดเร็ว แมวที่เราเลี้ยงดูอยู่อาจเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยที่เจ้าของอาจไม่ทันรู้ตัว ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางวงการสัตวแพทย์มีการพัฒนาอย่างมาก ซึ่งส่งผลต่อการดูแลและรักษาสุขภาพสัตว์เลี้ยงได้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับตัวเจ้าของแมวเองที่มีความใส่ใจและสนใจในการหาสิ่งดีๆให้กับสัตว์เลี้ยงของตนเอง ทำให้สัตว์เลี้ยงหลายๆตัวมีอายุยืนยาวกว่าในอดีต แมวบางตัวอาจมีอายุยืนถึง 20 ปีหรืออาจจะมากกว่า ทำให้ช่วงเวลาการดูแลของแมวในวัยชรายาวนานขึ้น ดังนั้นหน้าที่ที่ดีของสัตวแพทย์ คือ ทำให้เจ้าของมีความสุขร่วมกับสัตว์เลี้ยงของเขาไปกันอีกยาวนาน
สัตวแพทย์เป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดกับเจ้าของสัตว์ ที่เราจะต้องคอยพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสัตว์เลี้ยงตัวนั้นซึ่งกันและกัน เพื่อหาวิธีการดูแล และป้องกัน ให้เขามีสุขภาพที่แข็งแรงตลอดช่วงอายุที่เราได้มีโอกาสดูแลกัน ดังนั้นเจ้าของแมวสูงอายุควรมองหาสัตวแพทย์ที่เราไว้วางใจ คุยด้วยแล้วสบายใจ และเข้าใจลูกของเราอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ควรหาสถานที่ที่เป็นมิตรกับแมว cat friendly clinic เพื่อให้แมวของคุณมีความสุขมากที่สุด พบกับความเครียดน้อยที่สุดขณะที่เข้ามาใช้บริการ
การนำแมวแก่หรือแมวสูงวัยของเรามาตรวจสุขภาพและการพูดคุยเรื่องพฤติกรรมของแมวที่บ้านเป็นประจำจะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถแนะนำวิธีดูแลให้แมวอายุมากของคุณมีสุขภาพแข็งแรงได้
โดยทั่วไปแล้ว ควรพาแมวสูงอายุ 10 - 15 ปี ที่ยังไม่มีปัญหาโรคเรื้อรัง มาพบสัตวแพทย์อย่างน้อยทุกๆ 6 เดือนหรือปีละ 2 ครั้ง แต่หากมีอายุมากกว่า 15 ปี ควรได้รับการตรวจทุกๆ 4 เดือน เนื่องจากแมวสูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้นได้เร็วกว่าช่วงในวัยอื่นๆ โดยเฉพาะแมวที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ ถ้าหากพบว่าแมวสูงวัยของเรามีปัญหาโรคเรื้อรัง ความถี่ในการพบสัตวแพทย์อาจต้องมากกว่าคำแนะนำข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่ตรวจพบ ข้อดีของการตรวจสุขภาพเป็นประจำทำให้แมวมีความคุ้นเคยกับตัวสัตวแพทย์และกับทางโรงพยาบาล ซึ่งก็จะช่วยให้แมวมีความเครียดน้อยลงเมื่อมารับการบริการ นอกจากนี้ยังทำให้สัตวแพทย์และเจ้าของแมวรู้จักร่างกายของแมวสูงวัยเรามากยิ่งขึ้น ทำให้ป้องกันโรคได้ทันท่วงที ช่วยให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างรวดเร็ว ให้รู้ถึงสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้สุขภาพแมวสูงวัยของเราดียิ่งขึ้น
การซักประวัติและการตรวจร่างกายส่วนใหญ่ในแมวสูงอายุมักจะเน้นการตรวจหาโรคในระยะเริ่มต้น ส่วนใหญ่มักจะพบว่ามีโรคจากหลายระบบเกิดขึ้นร่วมกัน สัตวแพทย์จะมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความอยากอาหาร ปริมาณน้ำที่กินได้ ความถี่การปัสสาวะ สีของปัสสาวะ มีอาเจียนหรือไม่ อาเจียนสีอะไร อาเจียนเป็นก้อนขนหรือไม่ รูปทรงอุจจาระเป็นอย่างไร ถ่ายเหลวหรือไม่ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการตรวจวินิจฉัยต่อไป คำถามอื่นที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น มีส่งเสียงร้องตอนกลางคืนหรือไม่ มีอาการชักหรือไม่ หรือมีอาการเหมือนจำคนหรือสัตว์เลี้ยงคนอื่นไม่ได้ มีวงจรการหลับตื่นที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีความก้าวร้าว กลัวที่ที่ปกติไม่เคยกลัว มึนงง การเคลื่อนไหวที่ลดลง สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความผิดปกติของการรับรู้เกี่ยวกับการมองเห็นหรือการได้กลิ่น มีความเจ็บปวดขณะลูบคลำตามข้อหรือไม่ ถ้ามีอาการแสดงว่าแมวสูงวัยจะมีปัญหาการเสื่อมของข้อต่อและกระดูก นอกจากนี้ปัญหาที่สัตวแพทย์ต้องสอบถามเพิ่มเติมอีกคือ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่แมวอยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลงกระทันหันหรือไม่เพราะถ้ามีจะส่งผลก่อให้เกิดความเครียดแก่แมวได้ การพิจารณาถึงน้ำหนักของแมว สภาพร่างกายอื่นๆ เช่น อัตราการเต้นหัวใจ อัตราการเต้นชีพจร เสียงของหัวใจและเสียงอากาศที่เข้าออกของปอด สีของเนื้อเยื่อที่เหงือก ภาวะการยืดหยุ่นของผิวหนัง รวมถึงมวลกล้ามเนื้อ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกายทั้งหมดด้วย การทดสอบของห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ และอุจจาระ จะเป็นสิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อไป วัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของอวัยวะต่างๆก่อนที่แมวจะแสดงอาการของโรค หรือเพื่อติดตามความคืบหน้าของโรคอวัยวะต่างๆ การตรวจติดตามทั้งหมดจะช่วยให้สัตวแพทย์ตรวจพบโรคได้เร็วขึ้น เพื่อจัดการและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แมวสูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี
โปรแกรมการดูแลและตรวจสุขภาพที่สัตวแพทย์ของคุณควรแนะนำกับแมวสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
ลำดับ | โปรแกรมการดูแลและตรวจสุขภาพแมวสูงวัย | ประโยชน์ที่ได้รับ |
1 | ตรวจลักษณะทั่วไปของแมว และความสมบูรณ์ของร่างกายเบื้องต้น ได้แก่ - น้ำหนัก /โภชนาการ - ตรวจความสมบูรณ์ของรูปร่าง - ตรวจความสมบูรณ์ของมวลกล้ามเนื้อ - ตรวจผิวหนัง - ตรวจระบบไหลเวียนเลือด - ตรวจตา/เยื่อบุตา - ตรวจหู - ตรวจจมูก - ตรวจช่องปาก/ฟัน/เหงือก - ตรวจระบบการหายใจ/หัวใจ - ตรวจระบบกระดูกและข้อ - ตรวจอวัยวะภายในช่องท้อง - ตรวจต่อมน้ำเหลือง - ตรวจระบบประสาท | เป็นการตรวจที่เกิดจากการสังเกตที่ได้จากการดู จับสัมผัสตัวสัตว์ เคาะ ตามอัยวะต่างๆ ทำให้ประเมินสภาพร่างกายของแมวสูงวัยว่ายังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือเริ่มมีปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบถึงการทำงานของอวัยวะภายในได้ |
2 | วัคซีนหลัก (Core vaccines) - วัคซีนรวมไข้หัดแมว - วัคซีนพิษสุนัขบ้า - วัคซีนลิวคิเมียแมว | การพิจารณาโปรแกรมการฉีดวัคซีนในแมวสูงวัย อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละตัวสัตวแพทย์ที่เป็นผู้วางแผนในการฉีดวัคซีนจะพิจารณาจาก 1. สุขภาพของแมวสูงวัยในขณะที่จะทำวัคซีน เช่น มีโรคเรื้อรังเกิดขึ้นหรือไม่ มีโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะคุ้มกันบกพร่องหรือไม่ 2. ถ้าหากเป็นการรับเลี้ยงแมวสูงวัยครั้งแรกจะต้องพิจารณาแหล่งที่มาของแมวด้วย 3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมของการเลี้ยง ลักษณะการเลี้ยงดู และการระบาดของโรคติดต่อในพื้นที่การเลี้ยง 4. ทางด้านกฎหมายในแต่ละพื้นที่ที่กำหนดชนิดของวัคซีนที่ต้องฉีด |
3 | ทำหมัน | ประโยชน์ของการทำหมันมีหลายอย่าง เช่น ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งที่อัณฑะ การติดเชื้อในมดลูก โรคมะเร็งที่เต้านม นอกจากนี้ยังทำให้แมวไม่หงุดหงิดก้าวร้าว ลดพฤติกรรมการปัสสาวะพ่นตามสิ่งของเพื่อสร้างอาณาเขต ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ควรพาแมวไปทำหมันอาจจะไม่ได้ช่วงเวลาที่อายุ 10 ปีขึ้นไป แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องทำควรจะต้องตรวจร่างกายให้อย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด |
4 | การป้องกันพยาธิภายนอก | พยาธิภายนอกที่พบบ่อย ได้แก่ หมัด เหา ไรขน ไรหู มักจะก่ออาการที่ผิวหนังทำให้เกิดการแพ้น้ำลายหมัด ผิวหนังอักเสบ ขนร่วง ในบางรายอาจมีการติดเชื้อที่เกิดจากหมัดกัดแล้วปล่อยเชื้อปรสิตเข้าไปที่เม็ดเลือดแดงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางแบบรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้ คันใบหูและช่องหู ช่องหูมีการอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ง่าย ปัจจุบันการป้องกันทำได้ง่ายมากขึ้น โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่หยอดบริเวณผิวหนังเป็นประจำสามารถทำให้ลดปัญหาเหล่านี้ได้ |
5 | การป้องกันพยาธิในทางเดินอาหาร | พยาธิภายในทางเดินอาหารสามารถติดได้มาจากการกินไข่หมัด กินจิ้งจก หรือแมลงสาบ กินอาหารดิบ การป้องกันและกำจัดควรทำอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ เนื่องจากพยาธิภายในทางเดินอาหารสามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้ โดยผ่านการสัมผัสตัวสัตว์ แล้วละเลยการทำความสะอาด ปัจจุบันการป้องกันและการกำจัดพยาธิภายในทางเดินอาหารมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ทั้งแบบกิน และแบบหยอดที่ผิวหนัง เพิ่มความสะดวกให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยง |
6 | การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ | เป็นโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ โดยยุงที่มีเชื้อตัวอ่อนในระยะติดเชื้อมากัดแมวแล้ว จากนั้น เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและไปเจริญเติบโตที่หลอดเลือดในปอด แต่โรคพยาธิหนอนหัวใจในแมวมักไม่ค่อยพบมีพยาธิตัวเต็มวัยเจริญเติบโตไปอยู่ที่หัวใจ ทำให้อาการส่วนใหญ่ของแมว คือภาวะปอดอักเสบรุนแรง มีการตายแบบเฉียบพลัน ในแมวการมีพยาธิหนอนหัวใจเพียง 1 หรือ 2 ตัวก็สามารถทำให้แมวป่วยหนักได้ ยังไม่มียาที่รักษาได้ผลอย่างดีในปัญหาพยาธิหนอนหัวใจแมว ทางที่ดีควรป้องกันอย่างสม่ำเสมอและเป็นประจำ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทั้งรูปแบบกินและหยอดบริเวณผิวหนัง |
7 | อาหารที่เหมาะสม | แมวสูงวัยอาจมีความสามารถในการย่อยอาหารที่ลดลงส่งผลให้ความสมบูรณ์ของรูปร่างและกล้ามเนื้อลดลง ทำให้น้ำหนักตัวอาจจะต่ำกว่าเกณฑ์ทั่วไป ดังนั้นคำแนะนำในการให้อาหารต่อแมวสูงวัยที่ไม่มีปัญหาโรคเรื้อรัง ไม่ควรจำกัดปริมาณโปรตีนควรจะมีโปรตีนที่สูง แคลอรี่สูง มีความน่ากินสูงและย่อยง่าย สามารถให้อาหารเป็นมื้อเล็กๆและบ่อยครั้งขึ้น สำหรับแมวสูงวัยที่มีปัญหาโรคเรื้อรังควรให้กินอาหารตามภาวะของโรคที่ป่วย |
8 | ตรวจอุจจาระ | ประโยชน์ของการตรวจอุจจาระช่วยคัดกรองโรคที่เกิดจากการติดพยาธิหรือโปรโตซัวหรือเชื้อก่อโรคพวกแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ในเบื้องต้น นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาความผิดปกติที่เกี่ยวกับการย่อยและการดูดซึมสารอาหารได้ เช่นโรคตับและถุงน้ำดีหรือโรคที่ตับอ่อนไม่สามารถหลั่งน้ำย่อยออกมาได้เพียงพอ |
9 | ตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) | การตรวจปัสสาวะในแมวสูงวัยสามารถมีประโยชน์ได้บอกถึงการทำงานผิดปกติของไต และระบบทางเดินปัสสาวะ ทั้งหน้าที่การทำงานและความผิดปกติทางกายวิภาคได้ เช่น ไตวาย กระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ นิ่ว โรคเบาหวาน เป็นต้น โดยดูจากสารเคมี แร่ธาตุบางชนิด หรือแม้กระทั่งเชื้อโรคบางอย่างที่ถูกขับออกมาจากปัสสาวะ |
10 | วัดความดันเลือด | ควรวัดความดันเลือดในแมวตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไปและควรวัดอย่างเป็นประจำเพราะการวัดแค่ครั้งเดียวไม่สามารถบ่งชี้ว่าแมวจะป่วยด้วยภาวะความดันโลหิตสูงเสมอ ดังนั้นเมื่อเราเก็บข้อมูลไประยะหนึ่งเราจะสามารถแยกความแตกต่างระหว่างความดันโลหิตสูงที่ต้องทำการรักษากับที่เป็นภาวะปกติของแมวตัวนั้นๆได้ หากตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงที่จำเป็นต่อการรักษา จะได้วางแผนรักษาในแต่ละกรณีซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกิดพร้อมกับโรคอื่นๆร่วมอยู่ด้วย เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินผิดปกติ โรคต่อมหมวกไตทำงานมากเกินผิดปกติ เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต หรือโรคหัวใจ เป็นต้น |
11 | การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count, CBC) เป็นการตรวจปริมาณและลักษณะของเม็ดเลือดทั้งสามชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด | การตรวจนี้จะดูองค์ประกอบของเซลล์ต่างๆในเลือด โดยหาสัญญาณความผิดปกติที่อยู่ในเลือดเพื่อประเมินสุขภาพรวมถึงวินิจฉัยโรค เช่น ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส การติดเชื้อพยาธิในเม็ดเลือด ภาวะขาดสารอาหาร ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น |
12 | ตรวจวัดระดับของค่าชีวเคมีพื้นฐาน (Blood Chemistry) ที่มีอยู่ในเลือด การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสารเหล่านี้ สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพร่างกาย | เป็นการคัดกรองและประเมินการทำงานของอวัยวะภายใน เพราะเมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติหรือเกิดโรคขึ้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ทำให้สารชีวเคมีภายในเซลล์เข้ามาสู่ในกระแสเลือด ดังนั้นการพบสารชีวเคมีที่มากกว่าปกติในกระแสเลือดจึงทำให้ทราบถึงความผิดปกติของอวัยวะนั้นๆได้ เช่น การทำงานของตับ ไต กล้ามเนื้อ กระดูก ตับอ่อน หัวใจ เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ภาวะความเป็นกรดหรือด่างของร่างกาย เป็นต้น |
13 | ตรวจน้ำตาลสะสม (Fructosamine) | ประโยชน์ของการตรวจน้ำตาลสะสม 1. ช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคเบาหวาน ในกรณีที่แมวมีอาการน้ำตาลในเลือดสูง โดยค่านี้จะแสดงถึงระดับน้ำตาลในเลือดระยะยาวดังนั้นหากค่านี้มีอยู่ที่ระดับสูงร่วมกับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจะบ่งชี้ว่าเป็นเบาหวาน 2. ช่วยประเมินผลการควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือดในแมวที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วยอินซูลิน |
14 | ตรวจหาเชื้อไวรัสลิวคีเมียและภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเอดส์แมว (test kit) | ประโยชน์ของการคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด คือ เป็นการตรวจหาสภาวะของโรคที่แฝงอยู่ในร่างกายของแมวเพื่อใช้ในการวางแผนการจัดการป้องกันและดูแลสุขภาพของแมวตัวนั้นๆ สัตวแพทย์จะแนะนำให้เจ้าของแมวต้องตรวจคัดกรองเมื่อ 1. แมวที่ไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อนเลยจะแนะนำให้ตรวจทุกครั้ง เพื่อเป็นประวัติในการวางแผนการเลี้ยงดูและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย 2. เมื่อแมวมีอาการป่วยทุกครั้งควรตรวจเสมอ เพราะอาการป่วยของโรคไวรัสทั้ง 2 ชนิดมักมีความสัมพันธ์กับอาการป่วยที่เกิดจากจากระบบอื่นๆ จึงจำเป็นจะต้องตรวจทุกครั้งเพื่อหาสาเหตุของอาการป่วยที่เกิดขึ้น 3. เมื่อมีการเพิ่มสมาชิกของแมวในบ้าน 4. เลี้ยงแมวอยู่ในระบบเปิด แมวมีโอกาสออกไปข้างนอกหรือทะเลาะกับแมวตัวอื่นหรือสัมผัสกับแมวที่ไม่เคยรู้ประวัติการเลี้ยงดู ควรต้องมีการตรวจคัดกรองทุกปี 5. แมวที่จะเป็นผู้บริจาคเลือดแก่แมวตัวอื่น |
15 | ตรวจคัดกรองโรคพยาธิหนอนหัวใจในแมว | ข้อแนะนำในการตรวจคัดกรองโรคพยาธิหนอนหัวใจในแมว 1. ให้มีการตรวจกับแมวที่มาตรวจสุขภาพครั้งแรกหรือในแมวที่ไม่เคยตรวจสุขภาพ 2. ให้มีการตรวจกับแมวที่ไม่เคยป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจหรือป้องกันแบบไม่สม่ำเสมอ 3. ให้มีการตรวจก่อนที่จะเริ่มต้นป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ |
16 | ตรวจกรุ๊ปเลือด | แมวมีหมู่เลือดหลักอยู่ 3 หมู่ คือ 1. หมู่เลือด A เป็นหมู่เลือดที่พบได้บ่อยที่สุด 2. หมู่เลือด B พบได้ในแมวสายพันธุ์แท้บางสายพันธุ์ 3. หมู่เลือด AB พบได้น้อยในแมวทุกสายพันธุ์ ประโยชน์ของการตรวจหมู่เลือด 1. มีประโยชน์อย่างมากต่อการถ่ายเลือดในแมวที่มีปัญหาโรคโลหิตจางรุนแรง หากทำอย่างถูกต้องและระมัดระวังการถ่ายเลือดก็จะถือว่าปลอดภัยมากขึ้น 2. มีประโยชน์ต่อการพิจารณาหมู่เลือดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก่อนที่จะจับคู่ผสมพันธุ์ เพื่อป้องกันการแตกทำลายเม็ดเลือดแดงในลูกแมวแรกเกิด |
17 | การตรวจคัดกรองโรคหัวใจด้วยชุดตรวจ Cardiac biomarkers NT - proBNP | ในแมวที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว จะไม่ค่อยแสดงอาการทางคลินิกมาก ทำให้การวินิจฉัยโรคนี้ค่อนข้างจะลำบาก พบได้ตั้งแต่แมวที่อายุน้อยจนถึงแมวที่อายุมาก แต่จะพบในแมวสูงวัยมากกว่า สำหรับพันธุ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อย คือ Maine coon , Ragdoll , Persian ในปัจจุบันจึงมีวิธีการตรวจคัดกรองโดยการใช้ Cardiac biomaker มากขึ้น โดยมีข้อดี คือ ง่ายต่อการตรวจโดยใช้แค่การเจาะเลือด รู้ผลรวดเร็ว ทำให้ง่ายต่อการจัดการและเฝ้าระวังในกลุ่มแมวพันธ์ุที่มีความเสี่ยง หรือตรวจก่อนการผ่าตัดหรือทำหัตถการอื่นๆ เช่น การสวนท่อปัสสาวะ การที่มีแผนให้สารน้ำเข้าเส้นเลือดปริมาณมาก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวที่อาจเกิดจากการทำหัตถการต่างๆ หากตรวจแล้วพบว่าผลเป็น negative แสดงว่าหัวใจยังไม่มีความผิดปกติจากการยืดของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ แต่ถ้าหากตรวจพบแล้วผลเป็น positive ควรตรวจยืนยันด้วยวิธี Echocardiogram ต่อไป สำหรับตัวที่มีผล negative สามารถตรวจซ้ำได้ปีละ1 - 2 ครั้ง หรือสามารถตรวจได้ทุกครั้งหากมีอาการสงสัย ภาวะหัวใจล้มเหลว |
18 | การตรวจคัดกรองภาวะไตวายเรื้อรังในแมวระยะเริ่มต้น โดยใช้ ชุดตรวจ Renal biomarkers SDMA | ภาวะไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในแมวสูงอายุ การตรวจพบภาวะไตวายเรื้อรังระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญ เนื่องจากช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวางแผนการรักษาและการจัดการเหตุที่อาจจะโน้มนำไปสู่โรคไตได้ SDMA จะช่วยระบุความสามารถอัตราการกรองของไตได้ไวกว่าผลเลือดอื่น เพราะ SDMA ในกระแสเลือดแมวจะสูงขึ้นเมื่อการทำงานของไตลดลงมากกว่าร้อยละ 25 ในขณะที่ค่า serum creatinine จะสูงขึ้นเมื่อการทำงานไปลดลงมากกว่าร้อยละ 75 ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไตควรมีการตรวจเลือด เพื่อหาค่า SDMA ทุกครั้ง |
19 | ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ | เป็นโรคที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากกว่าปกติ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในแมวสูงวัยโดยเฉลี่ยแล้วจะอายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไป อายุต่ำสุดที่พบได้คือ 4 ปี ในแมวที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากกว่าปกติ มักจะพบภาวะความดันโลหิตสูงและโรคไตร่วมด้วย อาการอื่นๆที่สามารถพบได้ เช่น มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว ร่างกายสูบผอม ขนยุ่ง กล้ามเนื้อลีบฝ่อ แมวมักมีอาการกระสับกระส่าย น้ำหนักลดลงถึงแม้จะมีความอยากอาหารอยู่ ปัสสาวะบ่อยกินน้ำบ่อย ดุร้ายขึ้นขี้หงุดหงิด อาจพบมีก้อนขนาดใหญ่อยู่บริเวณลำคอใกล้หลอดลม |
20 | ตรวจโรคทางพันธุกรรม | ประโยชน์ของการตรวจโรคทางพันธุกรรมในสัตว์ จะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวางแผนและเฝ้าระวังในการดูแลสุขภาพสัตว์หรือการรักษาได้อย่างทันท่วงที หรือบางครั้งจะใช้ประโยชน์ในการจับคู่ของแมว โรคทางพันธุกรรมในแมว สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
|
21 | เอกซเรย์ช่องอก | การถ่ายภาพรังสีของช่องอกจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างและโรคของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกของทรวงอก ช่วยคัดกรองความผิดปกติของหัวใจและปอดโดยสามารถบอกถึงความผิดปกติของขนาดและรูปร่างของหัวใจได้ บอกถึงความผิดปกติของเนื้อปอดและหลอดเลือดและภาวะที่เกี่ยวข้องกับเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยวินิจฉัยช่องกลางทรวงอก หลอดอาหารและกระบังลม ได้อีกด้วย |
22 | เอกซเรย์ช่องท้อง | ภาพถ่ายรังสีของช่องท้องจะสามารถบอกถึงความผิดปกติของรูปร่าง และขนาด ของอวัยวะต่างๆที่อยู่ภายในช่องท้อง เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ไส้ใหญ่ ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก มดลูก ตับอ่อนเป็นต้น |
23 | อัลตราซาวด์ช่องอก (Echocardiogram) | การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง ส่งสัญญาณไปยังหัวใจหรือปอด และรับสัญญาณเสียงที่สะท้อนกลับมาแปลงเป็นภาพให้ปรากฏ เพื่อใช้ประเมินขนาดของหัวใจทั้ง 4 ห้องรวมถึงความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ
|
24 | อัลตราซาวด์ช่องท้อง | เป็นการใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงสะท้อนไปที่อวัยวะภายในที่ต้องการแล้วแปลงเป็นสัญญาณภาพ ซึ่งสามารถตรวจค้นหาความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้องในขณะที่ยังไม่มีอาการ หรือมีอาการที่ผิดปกติเช่น หาก้อนเนื้อในอวัยวะภายในต่างๆ ดูรูปร่างและขนาดของอวัยวะภายในได้ การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ไม่ก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจสุขภาพเบื้องต้นหรือการวินิจฉัยโรค |